ฉบับล่าสุด
ปีที่ 4 ฉบับที่ 5


Visitors Counter
Total Visits1573466
Total Unique 566888
Visitors Month 24410
Visitors Week 1390
Visitors Today 317
More statistics
<< ย้อนกลับ
ความภูมิใจของ..หมอช้าง... นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ

ผู้สัมภาษณ์: อยากให้เล่าบรรยากาศการเรียนสมัยคุณหมอเป็น อย่างไรบ้าง?
หมออลงกรณ์: การเรียนของนิสิตสัตวแพทย์ในยุคของหมอยากกว่าสมัยนี้นะ ไม่มีอินเตอร์เน็ต สื่อเยอะ แยะมากมายเหมือนสมัยนี้ ต้องอ่านตำรา และก็ค้นคว้า จากห้องสมุดอย่างเดียว เวลาฝึกปฏิบัติก็ต้องไปเรียนร่วมกับแพทย์ อาจารย์ท่านจะเฮี้ยบมาก อย่างการฉีดยา สัตว์ต้องฉีดเข้าเส้นเลือดดำ ซึ่งของสัตว์ไม่เหมือนของคน ต้องจำให้ได้ อาจารย์จะให้ทดลองเป็นร้อยๆ ครั้ง พลาดนิดเดียวปรับตกเลย แต่จบก็ทำได้ ไม่ประหม่า และหมอเองได้ทุนเล่าเรียนหลวงด้วย ยิ่งต้องมุ่งมั่น ตั้งใจเป็นพิเศษ กลัวไม่จบ แต่ผลจากความตั้งใจเรียน เลยได้เกียรตินิยมอันดับ 2 ภูมิใจมาก

ผู้สัมภาษณ์: เทียบกับการเรียนการสอนตอนนี้
หมออลงกรณ์: การจัดการเรียนการสอนสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ก้าวหน้าไปมาก มีอาคารเรียน มีอาจารย์ที่จบดอกเตอร์จากต่างประเทศ นิสิตก็เพิ่มขึ้น จากในยุคหมอรับแค่ 40 คน ตอนนี้เป็น 150 คน เรียก ว่ามีความเข้มแข็งน้องๆ อเมริกาหรือยุโรปเลย บัณฑิตที่จบออกไปได้รับการยอมรับจากสังคม และบทบาทของ คณะสัตวแพทย์ฯ ในปัจจุบันก็ค่อนข้างหลากหลาย มีการนำองค์ความรู้ต่างๆ ไปช่วยเหลือสังคมมากมาย เช่น เรื่องไข้หวัดนก ที่เราทำงานร่วมกับแพทย์ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว หรือ ล่าสุดเรื่องเชื้ออหิวาต์ในเลือดไก่ที่ เราออกมาแถลงข่าวกับสมาคม สัตวแพทย์ว่าเป็นอหิวาต์เทียม ให้ ประชาชนเข้าใจ ข้าวมันไก่ก็ขายได้เหมือนเดิม

ผู้สัมภาษณ์: ความรู้สึกที่ได้ทำงานสนองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว? 
หมออลงกรณ์: หมอเป็นนักเรียนทุน ได้ทุนเล่าเรียนหลวง ฉะนั้นจะต้องนำวิชาความรู้ที่เล่าเรียนมา ตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ก็มีดูแลสุขภาพของสุนัขทรงเลี้ยง โครงการพระราชดำริ เช่น ที่สวนป่าไทรใหญ่ ที่ ต.เขาเต่า ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับค่ายธนะรัชต์ เป็นตัวอย่างแก่ ประชาชนว่าถ้าเราดูแลผืนป่า มีต้นไม้ สัตว์ป่าก็จะอยู่ได้ ตอนนี้มีสัตว์ป่าเฉพาะสัตว์กีบพันกว่าตัว ลิงแสม เกือบ 500 ตัว ที่มาอยู่ในป่าของพระองค์ท่านโดยไม่ถูกรังแกจากมนุษย์ หรืออย่างเรื่องช้าง ในกลุ่มของช้างเหลืออยู่น้อยมากเสี่ยงจะสูญพันธุ์จากประเทศไทย เราจะต้องเข้าไปตีสนิทกับควาญหาทางรักษาให้เขาหายจากโรค เมื่อเขาสุขภาพดี แข็งแรงก็ตกลูก จำนวนประชากรช้างก็เพิ่มขึ้น ส่วนช้างเร่ร่อนก็ผลักดันกลับบ้านเกิด อย่างที่สุรินทร์ ก็ไปตรวจรักษา ดูแลสุขภาพฟรีหมด ตอนนี้มีช้างตกลูก 30-50 เชือกต่อปี คนก็เลยพูดต่อๆ กันมาว่า ถ้าเรื่องช้างให้โทร.หาหมออลงกรณ์

ผู้สัมภาษณ์: อุดมการณ์การทำงานของคุณหมอ
หมออลงกรณ์: ทำอย่างไรที่จะให้สัตว์ที่ผ่านเราเข้ามารอดชีวิตมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ เป็นสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ป่าที่ราคาค่างวดไม่ได้มาก แต่เวลาที่ป่วยเขาก็อยากมีชีวิตรอดเหมือนคน บางคนบอกว่าไม่เป็นไร ตายแล้วก็หาซื้อใหม่ได้ แต่หมอคิดว่าทุกชีวิตมีค่า จะต้องช่วยให้เขารอดชีวิต รอดพ้นจากความทรมาน นี่คือความสุขของหมอ

ผู้สัมภาษณ์: ในฐานะนิสิตรุ่นพี่ มีอะไรจะฝากถึงนิสิตรุ่นน้องบ้าง
หมออลงกรณ์: ขอให้ตั้งใจเรียน และหมั่นฝึกฝน ประสบการณ์และลงมือปฏิบัติให้มากที่สุด ถ้าได้ทดลองทำหรือฝึกบ่อยๆ จะทำให้น้องๆ มีความชำนาญ ทำให้ สัตว์ป่วยที่เราให้ความช่วยเหลือรอดชีวิต หรือถึงไม่รอด ชีวิตแต่ถือว่าเราได้ช่วยเหลือเขาจนสุดความสามารถแล้ว หมอคิดว่าเป็นบุญและความสุขของสัตวแพทย์ ทุกคน
ข้อมูลล่าสุดเมื่อ : 29 พฤศจิกายน 2558, 21:09:36 น.


สมาคมนิสิตเก่าคณะสัตวแพทยศาสตร์ | จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
© Copyright 2024 www.cuvetalumni.com All rights reserved